ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีอยู่แนวคิดหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเสมือนเอกลักษณ์การทำงานของคนประเทศนี้เลยทีเดียว มันเป็นแนวคิดที่เน้นการพิถีพิถัน มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานแต่ละอย่างให้ออกมาดีที่สุด ไม่ให้มีข้อผิดพลาดแม้สักเล็กน้อย
แนวคิดนี้เรียกกันว่า “ Kodawari ”
นี่ไม่ใช่แนวคิดที่มองว่า การทำงานแต่ละอย่างคือการสร้างรายได้ แต่การทำงานคือการใช้ชีวิต คือการฝึกปฏิบัติ และยังช่วยพัฒนาจิตใจและยกระดับชีวิตขึ้นไปอีกขั้น เพราะรู้สึกว่ากำลังทำบางสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อโลก จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เรามักพบเห็นคนญี่ปุ่นมักจะทำงานหนัก ใส่ใจทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะพวกเขาไม่ได้สู้กับคู่แข่งทางการค้า แต่กำลังสู้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
คนที่มี Kodawari มีลักษณะอย่างไร ? ส่วนใหญ่พวกเขามักภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ ทำงานอย่างพิถีพิถันและต้องการทำให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด และดีที่สุด
ในสายตาคนทั่วไปอาจมองว่า คนลักษณะนี้จู้จี้จุกจิกและเข้มงวด ไม่มีการหยวนหรือทำอะไรส่งๆ เด็ดขาด แต่ด้วยการทำงานลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้งานแต่ละอย่างออกมามีประสิทธิภาพเสมอ และมาตรฐานของพวกเขาก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่าง โอโนะ จิโร่ ผู้ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านซูชิของญี่ปุ่น เขาคือตัวอย่างของผู้ที่มี Kodawari อย่างชัดเจนมาก เขาจะมุ่งมั่นตั้งใจปั้นซูชิแต่ละชิ้นให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยสมบูรณ์แบบตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกวัตถุดิบ กรรมวิธีในการทำ ไปจนถึงขั้นตอนในการบริการ ซึ่งผลลัพธ์ของการทำให้ออกมาดีที่สุดนี้ก็คือคำชื่นชมจากลูกค้า ส่งผลให้ร้านซูชิของคุณจิโร่ถูกขนานนามว่าเป็นร้านซูชิที่ยอดเยี่ยมที่สุดเลยทีเดียว
“ถ้าไม่ได้ทำงาน ผมจะรู้สึกเบื่อ และไร้ค่ามาก” คุณจิโร่ สุดยอดเชฟญี่ปุ่นที่ได้ถูกบันทึกสถิติในกินเนสส์บุ้กว่าเป็นพ่อครัวที่อายุมากที่สุดในโลกได้ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนั้น และจนถึงทุกวันนี้ในวัย 95 ปี โอโนะ จิโร่ก็ยังคงอยากตื่นมาทำงานทุกวัน พร้อมต้อนรับลูกค้าจากทั่วโลก ยังคงตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดต่อไปเท่าที่ร่างกายจะทำไหว และยังคงเป็นเชฟซูชิฝีมือดีที่ไม่มีใครเทียบได้
ศาตร์แห่ง Kodawari นั้นอาจไม่ได้มีแค่เพียงมุมมองเดียวในเรื่องของการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีความหมายอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับการตีความไปตามแต่ละบริบท เช่น มุมมองโคดาวาริในการใช้ชีวิต มุมมองโคดาวาริในการบริการลูกค้า หรือมุมมองโคดาวาริในการบริหารลูกน้อง
ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยเช่นกันว่าแต่ละวัฒนธรรมก็ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นการนำมาประยุกต์ใช้ก็ควรให้เข้ากับลักษณะและวัฒนธรรมที่เหมาะสมจะดีที่สุด ดีกว่านำมาใช้แบบ 100 % แต่ไม่ได้ผล ต่อให้แนวคิดดีก็ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร
โดยแนวคิดที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารคนเพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในองค์กรก็คือ
#รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ
นี่คือทักษะที่สำคัญที่ผู้บริหารและหัวหน้าทีมควรมี เพราะลูกน้องไม่อาจเต็มที่กับงานที่ทำ หรืออยากจะทำให้ดีที่สุดได้เลย หากหัวหน้าไม่ได้มีบุคลิกที่จะรับผิดชอบต่องาน และการรับผิดชอบในที่นี้ หมายรวมถึงการรับผิดชอบในความผิดที่เป็นของทีมทั้งหมดด้วยเช่นกัน นั่นคือภาวะของการเป็นผู้นำ และผู้นำลักษณะนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนทั้งทีมเชื่อถือศรัทธาและอยากทำงานออกมาให้ดีที่สุด
#ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและทำให้เกิดขึ้นจริง
เพราะนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรารู้ว่า จะทำให้ดีที่สุดไปทำไม ที่สำคัญคือ เป้าหมายไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ก็ได้ เพราะบางครั้งอาจยากเกินกว่าจะทำให้สำเร็จ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนั้นสำคัญกว่า เป้าหมายที่ชัดเจนทำให้มองเห็นหนทางและวิธีการไปให้ถึงได้ดีกว่า รู้ถึงเหตุผล หรือรู้ Why ของการทำ เพราะการรู้ว่าทำไปเพื่ออะไรย่อมทำให้การทำงานเต็มไปด้วย Passion ซึ่งมันเป็นวิธีที่ดีกว่าการทำงานที่เต็มไปด้วยคำถาม หรือความไม่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่
สุดท้าย แม้เราจะไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงเรียกว่า ดีที่สุด แต่อย่างน้อยการได้พยายามทำให้ดีที่สุด มันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่เราเสมอ สิ่งนั้นก็คือ “การรู้สึกมีคุณค่า” นั่นเอง
เหมือนอย่างที่ โอโนะ จิโร่เคยพูดไว้ว่า “ผมจะปีนต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงยอดเขาสูงสุด แม้จะไม่มีใครรู้หรอกว่าจุดสูงสุดที่ว่ามันอยู่ตรงไหน”
ที่มา :
- https://jw-webmagazine.com/sukiyabashi-jiro-the-worlds-best-sushi-restaurant-with-michelin-3-stars-41213b35abc0/?fbclid=IwAR0hjzahBxg1NObBoR5ZKCA1iiq8SD39MscwvM6L72wv9_6VyqDidCafjNo
- https://entregurus.com/kodawari/?fbclid=IwAR0bnx6Sx3ab8tl3531m1S2kbm9LE9Rdpzog9hC7LkM2yO6wJfnXxxG3Fg0