ถ้าคุณเป็นอีกคนที่อยากจำแม่น เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วไม่ลืมง่ายๆ วันนี้เรามี 6 เทคนิคเพิ่มพลังสมองเพื่อให้คุณจำเก่งกว่าเดิมมาฝากกัน
เทคนิคเหล่านี้มีอะไรบ้าง? ไปดูกันเลย!
1.ฝึกทบทวนบ่อยๆ
รู้หรือไม่ว่าเราสามารถลืมข้อมูลต่างๆที่ได้รับมาต่อวันได้แทบจะทันที เพราะแนวโน้มการจำนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนรู้จากข้อมูลที่รับมาได้มากน้อยแค่ไหน ทบทวนมันบ่อยแค่ไหน และแนวโน้มการลืมก็ขึ้นอยู่กับว่าเราปล่อยข้อมูลที่รับมาให้ผ่านไปบ่อยแค่ไหนด้วยเช่นกัน
Nishant Kasibhatla ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำชาวสิงคโปร์ที่ได้รับการบันทึกจากกินเนสส์บุ้คส์ว่ามีความจำดีที่สุดในโลก แนะนำว่า เพื่อให้จำได้ดียิ่งขึ้น พยายามฝึกทบทวนอยู่บ่อยๆ ฝึกสังเกตในชีวิตประจำวัน และเก็บข้อมูลสำคัญๆที่พบเจอ เช่น สังเกตว่าป้ายที่เห็นมีสีอะไร, ใครกำลังต่อแถวอยู่, มีอะไรในเมนูบ้าง เป็นต้น
2.นอน ให้ พอ!
การนอนให้พอเหมือนจะทำง่าย แต่ก็ยากมากในยุคที่เราต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งเร้าและต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่หากเรานอนพอและนอนดี ไม่ใช่แค่สุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ความจำก็ดีขึ้นตามไปด้วย จากผลวิจัยยืนยันว่า การนอนให้พอช่วยสร้างระบบความจำที่ดีขึ้นแบบองค์รวม จำอะไรได้เป็นระบบ และบางช่วงของการนอนหลับแบบ REM (rapid-eye-movement) หรือช่วงหลับลึก ก็เป็นช่วงที่สมองทำงานอยู่แม้ว่าเราหลับไปแล้ว ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาในการสร้างความจำ เพราะฉะนั้นคนที่นอนได้ดีจนถึงช่วงหลับลึก ระบบความจำก็จะดี ส่งผลดีต่อการรับรู้และความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
3.ใช้บัตรคำศัพท์ (flashcard)
หากคุณต้องเรียนรู้อะไรที่เป็นรูปธรรม ที่ต้องจดจำข้อมูลจำนวนมาก หรือจำคำที่มีชื่อเรียกค่อนข้างยาก การใช้บัตรคำศัพท์หรือ Flashcard ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เวิร์คทีเดียว เพราะบัตรคำศัพท์ทำให้เราแบ่งข้อมูลออกเพื่อ “จำเป็นช่วงๆ” (spaced recall) ในระหว่างที่แบ่งข้อมูลในบัตรคำศัพท์ เราก็เกิดการเรียนรู้ไปในตัว ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักศึกษาแพทย์มาแล้วว่า บัตรคำศัพท์นั้นได้ผลจริง นอกจากบัตรคำศัพท์ในรูปแบบของกระดาษแล้ว ก็มีแอปพลิเคชั่น Flashcard ที่ใช้งานได้ง่ายและสะดวกอย่าง Anki ที่ช่วยแบ่งประเภทข้อมูลและอัลกอริทึมที่สนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการจำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ
4.จำวันและกิจกรรมเป็นภาพ
วิธีนี้คือการจำข้อมูลให้เป็นภาพและเชื่อมโยงเรื่องที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการจำแบบนี้ช่วยเรียกข้อมูลที่เราอาจหลงลืมไปออกมาได้ง่ายขึ้น ด้วยจุดเชื่อมโยงที่เราสร้างขึ้นมาเอง โดยเราอาจจะจำวันและกิจกรรมเป็นภาพ เช่น เดือนตุลาคมคือฟักทองเพราะเป็นเดือนที่มีวันฮาโลวีน, เดือนกุมภาพันธ์คือหัวใจเพราะเป็นเดือนแห่งความรัก หรือ วันที่ 4 คือเรือใบเพราะรูปทรงของตัวเลข 4 ที่คล้ายคลึงกับรูปเรือใบ และเราสามารถจำวันเข้ากับกิจกรรมต่างๆที่เราเคยทำหรือจำได้ เช่น วันจันทร์คือวันเกิด ทำกิจกรรมในวันนี้ที่ช่วยให้เรานึกถึงกิจกรรมที่เราเคยทำในวันเกิดของเรา เป็นต้น
5.ชมตัวเองตอนจำได้ อย่าดุตัวเองตอนลืม
บางครั้งเราอาจจะจำข้อมูลบางอย่างตกหล่น หรืออยู่ๆก็ลืมกะทันหัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ คอยบอกตัวเองเสมอว่าลืมบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องเข้มงวดหรือดุกับตัวเอง เพราะการตำหนิตัวเองจะทำให้เราเครียด ซึ่งส่งผลให้ลืมได้ง่ายขึ้น และกระทบต่อความจำระยะยาว พยายามให้กำลังใจตัวเองหรือชมตัวเองบ้างเวลาที่จำข้อมูลอะไรได้ เหมือนเป็นรางวัลให้ตัวเอง กระตุ้นให้อยากจำได้ดีขึ้น และเป็นการบอกสมองให้เข้าใจว่าเรามีความจำที่ดีและจะสามารถจำได้อย่างแน่นอน
6.ท่องจำซ้ำๆ
ความท้าทายสำหรับการเรียนรู้ไม่ใช่ความยากของการเรียน แต่คือการเรียนรู้ที่จะเรียน ส่วนจะเรียนแล้วได้ผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีส่วนร่วมกับการเรียนมากแค่ไหน แน่นอนว่ามันต้องอาศัยความพยายามและความอดทนที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง การทำซ้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจำก็เช่นกัน หากวันนี้จำไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะกว่าจะจำได้ต้องอาศัยเวลา พยายามท่องจำซ้ำๆ หรือใช้เทคนิคช่วยจำ เช่น จำเป็นคำคล้องจอง จำเป็นเพลง จำเป็นประเภท หรือจำเป็นภาพ ใช้หลากหลายวิธีที่ช่วยให้เราจำได้และได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน อย่าลืมว่าการทำซ้ำๆคือสิ่งสำคัญ อย่างที่อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกเคยกล่าวไว้ “เราเป็นสิ่งที่เราทำซ้ำๆ ความเป็นเลิศไม่ได้เกิดจากการกระทำ แต่มันต้องทำให้เป็นนิสัย”
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/science/2022/jul/03/memory-games-how-to-boost-your-brain-power
- https://www.sciencedaily.com/releases/2020/06/200605105359.htm