ข้อมูลหรือ Data ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์การตลาดไปจนถึงการบริหารองค์กร Data มีส่วนสำคัญในการช่วยตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าเดิม เราไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองอีกแล้ว (Decision Driven-Data) เพราะทุกวันนี้ข้อมูลต่างหากที่ช่วยเราตัดสินใจ (Data-Driven Decision)
และเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น มาเจาะลึกเรื่องของ Data-Driven และธุรกิจไปพร้อมกัน!
Data-Driven คืออะไร ?
ความหมายของ Data-Driven ที่ Dataversity ได้ให้นิยามเอาไว้นั้นหมายถึง องค์กรหรือธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ มากกว่าการใช้สัญชาตญาณหรือความคิดเห็นส่วนบุคคล หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ Data ก็เป็นเสมือน “น้ำมัน” ที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการขับรถยนต์ ความแตกต่างก็คือ หากเราไม่มี Data มันก็เหมือนกับการขี่ม้าที่เราเองก็ไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดหมายเมื่อไหร่ ในขณะที่การขับรถยนต์ย่อมถึงจุดหมายได้เร็วกว่าการขี่ม้าเป็นไหนๆ
ลักษณะของ Data-Driven ส่วนมากแล้วมักบูรณาการมาจาก Algorithm หรือแพทเทิร์นที่เกิดซ้ำ , ระบบ Automation และความสามารถของปัญญาประดิษญ์ (AI) นอกจากนี้ก็เกิดมาจากเทรนด์หรือจุดเปลี่ยนของวิกฤตบางอย่างที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ Data ซึ่งเราพอจะเห็นตัวอย่างมาจาก 2 เทรนด์ใหญ่ๆด้วยกัน
2 Trends ที่กระตุ้นให้ Data เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
- การเกิดขึ้นของ COVID-19 และ Disruptions
ปฏิเสธไม่ได้ว่า COVID 19 ได้เข้ามาสร้าง Awareness ถึงความสำคัญของ Data, เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆที่เข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นไปอย่างปกติและดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงการเกิดขึ้นของ Disruptions ที่เป็นผลมาจาก COVID 19 หากเราไม่มีเทคโนโลยี หลายๆสิ่งอาจดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จากเดิมที่การทำธุรกิจสามารถคาดการณ์และตัดสินใจอะไรได้ง่าย มาวันนี้หากเราไม่มี Data และเทคโนโลยี เราก็อาจจะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
ยกตัวอย่างธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จาก Data มาพลิกฟื้นวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ที่เก็บข้อมูลลูกค้าในละแวกพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้สะดวกต่อการจัดส่ง หรือธุรกิจขายของออนไลน์ที่เก็บข้อมูลลูกค้าจากการใช้สื่อ Social Media มาเพื่อต่อยอดทำการตลาดออนไลน์และโปรโมชั่น จนสร้างผลกำไรให้เติบโตอย่างมหาศาล
- ยุคของ Self-service ทุกคนต่างมีความจริงของตัวเอง
การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้ผู้คนพึ่งพาตัวเองได้ดีขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งคือเราอยู่ในยุค Decentralized หรือยุคไร้ศูนย์กลาง ผู้คนมีความสามารถในการเข้าถึง Data ด้วยตัวเอง ผู้บริโภคยุคใหม่ก็สามารถเลือกสนใจสิ่งที่อยากสนใจตามที่สื่อชักนำหรืออิทธิพลจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง Data จะมีความหลากหลายมากกว่าแค่หนึ่งมุมมอง หรือการนำเสนอเพียงทางใดทางหนึ่ง สิ่งนี้จะนำไปสู่ยุคที่เรียกว่า “alternative facts” หรือข้อเท็จจริงทางเลือกที่ผู้คนเลือกที่จะเชื่อ แม้จะไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมทั่วไปรับรู้
ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงเช่น แพลตฟอร์ม Social Media ที่เราใช้อยู่เป็นประจำอย่าง Facebook, Twitter หรือ Instagram ต่างก็มี Algorithm ที่แตกต่างกัน หน้า New Feeds ของแต่ละคนย่อมขึ้นมาไม่เหมือนกัน ตามแต่ความสนใจ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการที่เรามีความจริงของเราที่ไม่เหมือนของคนอื่น แต่อาจมีใกล้เคียงกับของคนส่วนใหญ่ที่เราเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เราเห็นโฆษณา ข่าวสาร และความเชื่อบางอย่างแตกต่างกันออกไป แม้จะใช้แพลตฟอร์มเดียวกันก็ตาม
ความท้าทายของการเป็น Data-Driven Organization
จากผลสำรวจพบว่ามีเพียงแค่ 26.5% ขององค์กรเท่านั้นที่สามารถทำ Data-Driven ให้เกิดขึ้นจริงได้สำเร็จ โดยสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น Data-Driven Mindset ซึ่งจากผลสำรวจของผู้บริหารประจำปี 2022 ก็เห็นด้วยมากถึง 91.9% เลยทีเดียว
ทุกวันนี้หลายองค์กรใหญ่ ต้องเจอกับความท้าทายในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล ข้อมูลกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด การแข่งขันก็ยิ่งสูงมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลของ Data ที่มากมาย เช่น ข้อความ, รูปภาพ และแพลตฟอร์มธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ Data กลายเป็นสินทรัพย์สำคัญขององค์กร ที่มาช่วยลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำงานแบบเดิมๆไป จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจ
แล้วธุรกิจจะต้องเริ่มอย่างไร หากอยากเป็น Data-Driven
จาก Lesson Learn ขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วมักเริ่มต้นด้วย 3 แนวทางคือ
- Think different : กล้าที่จะคิดต่าง
การเป็น Data-Driven นั้นอาศัย Mindset ที่แตกต่าง องค์กรที่อยากทำ Data-Driven ต้องเตรียมความพร้อมให้พนักงานกล้าที่จะคิดให้แตกต่าง คิดนอกกรอบ และมองให้เห็นสิ่งที่เป็นไปได้ แน่นอนว่าย่อมไม่มีทางลัด แต่มาพร้อมกับทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), ทักษะในการตัดสินใจ (Human Judgment) และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรม (Creative Innovation)
- Fail fast, learn faster : ล้มให้ไว ลุกให้ไวกว่า
องค์กรที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้อาจไม่ใช่องค์กรที่ประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด แต่คือการล้มให้เร็วที่สุด และลุกให้เร็วกว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาด มาจากการกล้าที่จะลองเสี่ยง แม้พลาดบ้างก็ถือเป็นบทเรียน เพราะทุกความผิดพลาดคือพื้นฐานของการสร้างสิ่งใหม่ ไม่มีนวัตกรรมไหนที่ไม่เกิดขึ้นจากปัญหา ส่วนใหญ่แล้วทุกนวัตกรรมมักเริ่มต้นมาจากความผิดพลาดก่อนเสมอ และองค์กรที่ล้มไวก่อน ย่อมได้เปรียบคู่แข่ง
- Focus on the long-term : โฟกัสที่เป้าหมายระยะยาว
ธุรกิจแบบ Data-Driven ไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่มันคือกระบวนการที่ต่อเนื่องและเคลื่อนไหวอยู่เสมอแน่นอนว่าย่อมไม่มีคำตอบสุดท้ายหรือความสมบูรณ์แบบ อย่างที่นักเขียนชาวฝรั่งเศสอย่างวอลแตร์เคยกล่าวไว้ว่า “Perfect is the enemy of good.” สมบูรณ์แบบคือศัตรูของคำว่าดี องค์กรแบบ Data-Driven จึงไม่เคยหยุดที่คำว่าสมบูรณ์แบบ และไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว เพราะความสำเร็จนั้นคือการเติบโต การโฟกัสที่เป้าหมายระยะยาว ไม่ใช่แค่ทำได้แล้วจบเท่านั้น แต่ต้องทำได้และทำได้ดีกว่าเดิมเรื่อยๆ
สรุป
“Data is the New Oil” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง หลายบริษัทก็ใช้ประโยชน์จาก Data และเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ ทำการตลาดและบริหารองค์กร ความท้าทายใหม่สำหรับการทำธุรกิจแบบ Data-Driven ในปัจจุบันนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร และ Mindset เป็นสำคัญ และมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่อาศัยทั้งการลองผิดลองถูก การปรับตัวและยืดหยุ่น ที่สำคัญก็คือการมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนและการตั้งคำถามอย่างถูกต้องว่าเราจะนำ Data ที่ได้มานั้นไปใช้เพื่อทำอะไร
อ้างอิง :
- https://hbr.org/2022/02/why-becoming-a-data-driven-organization-is-so-hard
- https://towardsdatascience.com/why-organizations-need-to-be-data-driven-98ade3ca53a
- https://www.dataversity.net/what-is-data-driven/#