การรับ feedback คือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเป็นหัวหน้าเติบโตขึ้น แต่เราจะรับ feedback ให้เก่งได้อย่างไร?
วันนี้ TUXSA มี 4 ขั้นตอนเพื่อเป็นหัวหน้าที่รับ feedback ได้ดีขึ้นมาแชร์กัน ขั้นตอนที่ว่านี้จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
ทำไมการรับฟัง Feedback ถึงสำคัญสำหรับคนเป็นหัวหน้า?
บ่อยครั้งหัวหน้าระดับสูงๆ อาจไม่ค่อยได้รับ Feedback อย่างตรงไปตรงมาจากลูกน้องมากเท่าที่ควร นั่นเป็นเพราะว่าหัวหน้าระดับสูงไม่ได้ใกล้ชิดกับกระบวนการทำงานของพนักงานทุกคนอย่างทั่วถึง ทำให้ไม่เห็นว่ามีปัญหาติดขัดที่ตรงไหนบ้าง การให้ Feedback ของลูกน้องต่อหัวหน้าระดับสูงก็เป็นไปอย่างกล้าๆ กลัวๆ คือไม่กล้าให้ความเห็นตรงๆ ในเรื่องที่ควรแก้ไข เพราะกลัวจะโดนตำหนิว่าทำงานผิดพลาด หรือไม่อยากเสนอไอเดียใหม่ๆ เพราะกลัวว่าหัวหน้าจะไม่เห็นด้วย
เช่นกันกับปฏิกิริยาของหัวหน้าระดับสูงต่อ Feedback ของลูกน้อง ที่ไม่สามารถเข้าใจคำวิจารณ์เหล่านั้นได้ทั้งหมด เพราะได้รับการปกป้องให้ไม่ต้องรับฟังสิ่งที่ต้องปรับปรุง หรือเป็นเพราะหัวหน้าระดับสูงก็ไม่ได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนนั้นตั้งแต่แรก
เพื่อป้องกันไม่ให้ความเห็นจากลูกน้องโดนปิดกั้น และไม่ต้องทำให้คนที่เป็นหัวหน้ารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ลองดูวิธีในการรับฟังความคิดเห็นของลูกน้องเพื่อนำมาปรับใช้อย่างได้ผลทั้ง 4 ข้อนี้กันเลย!
01 เริ่มด้วยคำขอบคุณ
สิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรทำเป็นสิ่งแรกๆ เมื่อได้รับ Feedback จากลูกน้องคือการแสดงความขอบคุณสำหรับ Feedback เหล่านั้น แน่นอนว่าบางครั้งคำวิจารณ์ที่ไม่ดีอาจทำให้คนเป็นหัวหน้ารู้สึกแย่ ไม่มั่นใจในตัวเองและกลัวจะขาดความน่าเชื่อถือในสายตาลูกน้องไป แต่ก็ไม่ควรป้องกันตัวเองด้วยการอธิบายเรื่องที่พวกเขาไม่อาจเข้าใจ หรือข้ามไปพูดถึงสิ่งที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงเลยทันที เพราะการทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้ลูกน้องไม่กล้าให้คำวิจารณ์ตรงๆ ที่อาจมีประโยชน์กับคุณได้อีก แต่หากคุณฟัง Feedback เหล่านั้นอย่างตั้งใจและกล่าวแสดงความขอบคุณ นอกจากจะเป็นการให้เกียรติลูกน้องแล้ว คุณก็ยังได้นำคำแนะนำเหล่านั้นไปปรับใช้และยังคงความน่าเชื่อถือในสายตาลูกน้องอีกด้วย
ในมุมมองของลูกน้องที่ให้ Feedback หัวหน้าระกับสูง พวกเขาก็ต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงคำพูดและรวบรวมความกล้าที่จะบอกหัวหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกเขาก็ไม่รู้ว่าหัวหน้าจะมีปฏิกิริยาต่อความคิดเห็นเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นด้วยดีหรือแย่ก็ได้ ดังนั้นแล้วการกล่าวขอบคุณความคิดเห็นของลูกน้อง ก็เป็นการแสดงให้ลูกน้องเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาบอกคุณนั้นมันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง
02 ทวนสิ่งที่ได้ฟังซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็นคำชม คำวิจารณ์หรือคำแนะนำด้านอื่นๆ สิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรทำทุกครั้งคือการทวนสิ่งที่ได้รับฟังนั้นซ้ำอีกครั้ง เพราะการทวนซ้ำเช่นนี้ให้ประโยชน์กับคุณ 2 อย่างคือ หนึ่ง มันเป็นการรีเช็กว่าคุณเข้าใจสิ่งที่ลูกน้องบอกคุณได้ดีแค่ไหน เพื่อไม่ต้องตีความหรือเข้าใจสิ่งที่ลูกน้องบอกผิดไป และสอง มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า Feedback เหล่านั้นได้รับการรับฟัง
เพราะสิ่งที่คนให้ Feedback ทุกคนต้องการก็คือการได้รับการรับฟัง เหมือนอย่างข้อแรกที่กล่าวไปคือ หาก Feedback เหล่านั้นได้รับการรับฟัง พวกเขาก็จะไม่รู้สึกเสียเวลาเลยที่ได้บอกคุณ มันยังทำให้ลูกน้องรู้สึกดีที่จะได้ให้ Feedback ที่เป็นประโยชน์กับคุณในอนาคตอีกด้วย และเป็นการแสดงออกว่า ความคิดเห็นจากลูกน้องทุกคน แม้จะเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีค่าและคุ้มค่าพอที่จะได้รับการรับฟัง
03 บอกเขาว่าคุณกำลังเปลี่ยนแปลงอะไร
การรับฟัง Feedback เพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้นำไปปรับปรุงแก้ไข Feedback เหล่านั้นก็ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ แต่หากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ สิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรทำก็คือ แชร์ความคิดเห็นและสิ่งที่คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งทีมของคุณ และไม่ลืมที่จะแชรให้ลูกน้องคนที่ให้ Feedback นั้นกับคุณด้วย
แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้นคุณจึงไม่จำเป็นต้องบอกสิ่งที่คุณตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงทันทีหลังจากได้รับ Feedback ก็ได้ เพราะมันต้องผ่านการรับฟังและนำไปคิดทบทวนก่อน แต่เมื่อคุณรู้แล้วว่าวิธีแก้ปัญหานั้นคืออะไร ก็อย่าลืมแชร์ให้ลูกน้องรับรู้เพื่อที่พวกเขาจะได้มั่นใจว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงมันจริงๆ
04 มองหา feedback เพิ่มเติม
เพราะการให้ Feedback ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วจบไป แต่มันคือกระบวนการ ที่ต้องผ่านการเรียนรู้ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่ดีขึ้น คุณจึงต้องการ Feedback ที่มากขึ้นและรอบด้านมากขึ้นด้วย ซึ่งช่วยให้คุณมีมุมมองที่หลากหลายและช่วยในการตัดสินใจว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น หลังจากที่คุณรู้แล้วว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป ก็ลองนัดพูดคุยกับลูกน้องทุกคนในทีมอีกครั้งว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง การที่คุณทำเช่นนี้กับลูกน้อง นอกจากจากช่วยให้คุณเก่งในการรับฟัง Feedback แล้ว ก็ยังช่วยให้คนรอบข้างที่ทำงานด้วยรู้สึกสบายใจ ทำงานด้วยความโปร่งใสเพราะมีอะไรพวกเขาก็กล้าที่จะบอกคุณ และเพราะพวกเขารู้ว่าคุณก็จะรับฟังพวกเขาด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือวิธีรับ feedback ให้เก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน และสำหรับใครที่อยากพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ลองดูรายละเอียด TUXSA ปริญญาโทออนไลน์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่
อ้างอิง :